วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวประจำสัปดาห์ที่6

สารานุกรมไทยเยาวชนฯ เล่ม 33 จำหน่ายแล้ว

โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จัดทำหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มใหม่ล่าสุด เล่มที่ 33 พร้อมซีดีรอมสารานุกรมไทยฯ เสร็จเรียบร้อย และวางจำหน่ายแล้วในราคาเล่มละ 250 บาท

หนังสือสารานุกรมไทยจัดทำขึ้นเพื่อ เพิ่มเติมความรู้นอกห้องเรียน และเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านแก่นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลายถึงมัธยมศึกษาตอนต้น โดยจัดพิมพ์ในขนาดพ็อกเก็ตบุ๊ก ให้พกพาสะดวก มีภาพประกอบสี่สีทั้งเล่ม เรียบเรียงด้วยภาษาที่อ่านง่าย เหมาะที่จะมีไว้ติดบ้านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถหาซื้อหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ผ่านๆมาได้ทั้ง 32 เล่ม ราคาทั้งหมด (ประมาณ 6000 บาท) ได้ที่บูธโครงการฯ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ระหว่างวันที่ 11 - 23 ตุลาคม 2551 ที่ศูนย์ประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ โซน C ชั้น 2 บูธ S 28 สำหรับผู้สนใจซื้อหนังสือภายในงานมีส่วนลดพิเศษ

หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม ๓๓ มีเรื่องต่าง ๆ ๘ เรื่อง คือ (๑) สุนทรภู่ (๒) เพลงลูกทุ่งไทย (๓) คลอง (๔) วิวัฒนาการของมนุษย์ (๕) เซลล์เชื้อเพลิง (๖) เปลือกโลกและหิน (๗) อาหารกับโรคเรื้อรัง (๘) การแพทย์แผนไทย ทั้ง ๘ เรื่อง มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลากหลายความรู้ มีจำนวนหน้าถึง ๓๒๐ หน้า ทุกเรื่องมีภาพประกอบสี่สีงดงาม ขอยกตัวอย่างเรื่องที่น่าสนใจ ๓ เรื่อง ดังนี้

๑. เพลงลูกทุ่งไทย ท่านทราบไหมว่า เพลงลูกทุ่งไทยเพลงแรกคือเพลงอะไร ใครเป็น ผู้แต่ง เรื่องนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของเพลง ลูกทุ่งไทยอย่างละเอียด การพัฒนาการของเพลงลูกทุ่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๗ ยุค ตามเนื้อหาและรูปแบบของเพลงลูกทุ่ง เสน่ห์ของเพลงลูกทุ่งจะอยู่ที่ส่วนประกอบ ต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น เนื้อเพลงที่ใช้ภาษาง่าย ๆ เน้นวิถีชีวิตของชนบท นักร้องจะมีลีลาการร้องที่แตกต่างจากการร้องเพลงลูกกรุง การใช้ลูกคอ การใช้วงดนตรีและหางเครื่องเป็นต้น ผู้อ่านจะทราบว่าเพลงลูกทุ่งใดและนักร้องผู้ใด ในแต่ละยุคนั้นที่เป็นที่นิยมมาก รวมถึงนักแต่งเพลงที่มีความสามารถสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย

๒. คลอง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. ปิยนาถ บุนนาค เรียบเรียงบทความนี้ โดยกล่าวถึงคลองต่าง ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ทั้งที่เป็นคลองขุด และคลองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ประวัติการขุดคลองในสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ จนทำให้ครั้งหนึ่งมีการขนานนามกรุงเทพฯ ว่า เวนิสตะวันออก นอกจากนี้ยังกล่าวถึงคลองขุดที่สำคัญของโลก เช่น คลองสุเอซ คลองปานามา คลองหยวนเหอ เป็นต้น บทบาทความสำคัญของคลอง และการเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยในปัจจุบัน

๓. อาหารกับโรคเรื้อรัง เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ ๕ หมู่ จะทำให้ร่างกายเจริญเติบโต มีสุขภาพอนามัยดี มีภูมิต้านทานโรคดี ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคเรื้อรัง เรื่องนี้แพทย์หญิงแสงโสม สีนะวัฒน์ ได้รวบรวมสาเหตุของการเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น และได้นำเสนอแนวทางการดูแลรักษาโรคต่าง ๆ อย่างละเอียด โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร ให้ตัวอย่างรายการอาหารที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละโรคในแต่ละวันไว้ด้วย

นอกจากทั้ง ๓ เรื่อง ดังกล่าว แล้วอีก ๕ เรื่อง ก็ล้วนเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น พร้อมภาพประกอบมากมาย สามารถหาซื้อได้ที่โครงการสารานุกรมไทยฯ สนามเสือป่า และร้านหนังสือตัวแทนจำหน่าย ในราคาเล่มละ ๒๕๐ บาท เท่าเดิม นอกจากนี้ยังหาซื้อได้ที่บูธโครงการฯ ใน ที่ศูนย์ประชุม แห่งชาติสิริกิติ์ โซน C ชั้น ๒ บูธ S ๒๘ ซึ่งมีส่วนลดพิเศษในงานด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารานุกรมไทย : http://kanchanapisek.or.th/kp6/

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวประจำสัปดาห์ที่ 5

สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (โดยย่อ)

คำปรารภ (ย่อ)
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้เมื่อ ๑๐ ธ.ค.๙๘ มีใจความว่าปัจจุบันมีความรู้มากอย่างที่ควรจะรู้ ถ้าไม่มีตำรับตำราสำหรับย่นเวลาในการศึกษาเล่าเรียนแล้ว กว่าจะรู้อะไรสักอย่างต้องเสียเวลาค้นมาก ถ้าเรามีหนังสือสารานุกรมอยู่ จะเปิดดูได้ทีเดียวไม่เสียเวลาค้นหาในหนังสือต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้นานาอารยประเทศจึงได้ทำหนังสือสารานุกรมซึ่งบรรจุความรู้แทบทุกสาขาวิชาไว้ เพื่อให้พลเมืองของเขาศึกษาค้นคว้าได้ง่ายไม่เสียเวลา
คำนำ (ย่อ)
การทำสารานุกรมนี้ราชบัณฑิตยสถานได้เคยเริ่มดำเนินการจัดทำมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ แต่ต้องหยุดชะงักลง ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๙๗ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในตำแหน่งบังคับบัญชา ราชบัณฑิตยสถาน ได้เสนอให้ราชบัณฑิตยสถานวางโครงการจัดทำสารานุกรมขึ้นใหม่
สารานุกรมเป็นหนังสือ จัดอยู่ในประเภทหนังสือสำหรับค้นเช่นเดียวกับพจนานุกรม วัตถุประสงของการจัดทำหนังสือก็คือ ประการแรก จะต้องอธิบายอย่างย่อ ๆ และเข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้อ่านซึ่งแม้จะไม่มีความรู้พิเศษเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ก็สามารถเข้าใจได้ทันที ประการที่สอง โดยมากมักจะมีการจัดระเบียบด้วยการเรียงลำดับตัวอักษร หรือไม่ก็โดยวิธีอื่นใดที่จะทำให้ผู้อ่านค้นหาได้สะดวกและรวดเร็ว
สารานุกรมมุ่งไปในทางที่จะอธิบายเรื่องราวของสิ่งต่าง ๆ และความคิดของตน ซึ่งบางเล่มก็อธิบายทุก ๆ เรื่องที่สามารถอธิบายได้ บางเล่มก็อธิบายเฉพาะเรื่อง เฉพาะวิชา
ในขั้นแรกนี้ จะจัดทำเป็นเรื่องขนาดเล็ก บรรจุคำถามที่เห็นสมควรเลือกเป็นคำตั้งมีข้อความอธิบายย่อบ้าง พิศดารบ้าง ตามสมควรแก่เรื่องในคำนั้น ๆ เพื่อเป็นการวางรากฐานไว้คราวหนึ่งก่อน ต่อไปอาจขยายเป็นขนาดใหญ่และพิศดารยิ่งขึ้น
เรื่องที่จะนำมาอธิบายนั้น อยู่ในขอบเขตหัวข้อดังต่อไปนี้
๑. บุคคลสำคัญ
๒. เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และความเคลื่อนไหวของโลก
๓. ประเทศ ภูมิภาค นคร เมือง ฯลฯ
๔. เรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์
๕. เชื้อชาติของมนุษย์
๖. นิยายโบราณ
๗. ศาสนา
๘. ปรัชญา
๙. ลัทธินิกายต่าง ๆ
๑๐. หนังสือสำคัญของโลก
๑๑. ตำนานและนิทานต่าง ๆ
๑๒. ตัวสำคัญที่มีอยู่ในเรื่องวรรณคดี
๑๓. สังคมและการเมือง
๑๔. ครอบครัวที่สำคัญ
๑๕. สถาบันต่าง ๆ (สิ่งที่ตั้งขึ้นเป็นขนบประเพณีหรือเป็นสถานที่เกี่ยวกับการปกครอง วิทยาการ สังคม เป็นต้น)
๑๖. วันหยุดงานและพิธีรีตอง
๑๗. วิทยาศาสตร์ ศีลธรรม และวัฒนธรรม (วรรณคดี ศิลปกรรม)
๑๘. เศรษฐกิจ
คำชี้แจง (ย่อ)
การเรียงลำดับคำ ได้ใช้หลักการเรียงตามหนังสือพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสวถาน พ.ศ.๒๔๙๓
ศักราช ใช้พุทธศักราชเป็นหลัก
มาตรา ชั้ง ตวง วัด ใช้มาตราเมตริก เป็นหลัก
คำที่เป็นชื่อย่อยของสิ่งบางอย่างจะไม่แยกเก็บที่คำนั้น ๆ เช่น คำ "ข้าวกระตาบ" หรือ "ต่อ" ซึ่งเป็นชื่อย่อยบอกประเภทของเรือ ไม่แยกเก็บที่คำนั้น ๆ แต่จะไปรวมอธิบายที่คำ "เรือ" เว้นแต่คำใดที่อยู่ในความสนใจเป็นพิเศษ
คำที่ใช้เป็นคำนำหน้าคำอื่นเช่น "พระ" มีมากด้วยกัน เมื่อเป็นเช่นนี้คำใดที่จะแยกออกได้เช่น พระศรีรัตนศาสดาราม พระสูตร ก็จะเก็บที่ศรีรัตนศาสดารามและสูตร ถ้าค้นหาที่คำ "พระ" ไม่พบก็ขอให้ค้นที่คำซึ่งเป็นชื่อของสิ่งนั้น ๆ โดยตรง

ที่มา:สารานุกรมไทย